เมนู

พระวินัยปิฎก ปริวาร [โจทนากัณฑ์] 2. โจทกาทิปฏิปัตติ
ถาม : สงฆ์พึงปฏิบัติอย่างไร
ตอบ : สงฆ์พึงรู้คำที่เข้าประเด็นและไม่เข้าประเด็น สงฆ์พึงปฏิบัติอย่างนี้
ถาม : ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ควรปฏิบัติอย่างไร
ตอบ : ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์พึงระงับอธิกรณ์นั้น โดยประการที่อธิกรณ์นั้นจะ
ระงับโดยธรรม โดยวินัย โดยสัตถุศาสน์ ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์พึงปฏิบัติอย่างนี้

ว่าด้วยอุโบสถ เป็นต้น
[364] ถาม : อุโบสถเพื่อประโยชน์อะไร ปวารณาเพื่อเหตุอะไร
ปริวาสเพื่อประโยชน์อะไร การชักเข้าหาอาบัติเดิมเพื่อเหตุอะไร
มานัตเพื่อประโยชน์อะไร อัพภานเพื่อเหตุอะไร
ตอบ : อุโบสถเพื่อประโยชน์แก่ความพร้อมเพรียง
ปวารณาเพื่อประโยชน์แก่ความหมดจด
ปริวาสเพื่อประโยชน์แก่มานัต
การชักเข้าหาอาบัติเดิมเพื่อประโยชน์แก่นิคคหะ
มานัตเพื่อประโยชน์แก่อัพภาน
อัพภานเพื่อประโยชน์แก่ความหมดจด
ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์มีปัญญาทราม
โง่เขลา และไม่มีความเคารพในสิกขาบริภาษพระเถระ
ลำเอียงเพราะชอบ ลำเอียงเพราะชัง
ลำเอียงเพราะกลัว ลำเอียงเพราะหลง
เป็นผู้ขุดตนกำจัดอินทรีย์แล้ว เพราะกายแตกย่อมเข้านรก
ภิกษุผู้วินิจฉัยอธิกรณ์ไม่พึงเห็นแก่อามิส
และไม่พึงเห็นแก่บุคคล ควรเว้นสองอย่างนั้นแล้ว
ทำตามที่เป็นธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 8 หน้า :547 }


พระวินัยปิฎก ปริวาร [โจทนากัณฑ์] 3. โจทกัสสอัตตฌาปนะ
3. โจทกัสสอัตตฌาปนะ
ว่าด้วยการเผาตนของภิกษุผู้เป็นโจทก์
โจทก์เป็นผู้มักโกรธ มักถือโกรธ ดุร้าย มักกล่าวบริภาษ
ย่อมปลูกอนาบัติว่าเป็นอาบัติ โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน
โจทก์กระซิบใกล้หูคอยจับผิด ทำให้บกพร่อง
เสพทางผิด ย่อมปลูกอนาบัติว่าเป็นอาบัติ
โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน
โจทก์โจทโดยกาลอันไม่ควร โจทด้วยคำไม่จริง
โจทด้วยคำหยาบ โจทด้วยคำไม่ประกอบด้วยประโยชน์
มุ่งร้ายโจทไม่มีเมตตาจิตโจท ปลูกอนาบัติว่าเป็นอาบัติ
โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน
โจทก์ไม่รู้ธรรมและอธรรม ไม่ฉลาดในธรรมและอธรรม
ปลูกอนาบัติว่าเป็นอาบัติ โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน
โจทก์ไม่รู้วินัยและมิใช่วินัย ไม่ฉลาดในวินัยและมิใช่วินัย
ปลูกอนาบัติว่าอาบัติ โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน
โจทก์ไม่รู้สิ่งที่พระตถาคตภาษิตไว้และมิได้ภาษิตไว้
ไม่ฉลาดในสิ่งที่พระตถาคตภาษิตไว้และมิได้ภาษิตไว้
ปลูกอนาบัติว่าเป็นอาบัติ โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน
โจทก์ไม่รู้สิ่งที่พระตถาคตทรงประพฤติมาและมิได้ทรงประพฤติมา
ไม่ฉลาดในสิ่งที่พระตถาคตทรงประพฤติมาและมิได้ทรงประพฤติมา
ปลูกอนาบัติว่าเป็นอาบัติ โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน
โจทก์ไม่รู้สิ่งที่พระตถาคตทรงบัญญัติไว้และมิได้ทรงบัญญัติไว้
ไม่ฉลาดในสิ่งที่พระตถาคตทรงบัญญัติไว้และมิได้ทรงบัญญัติไว้
ปลูกอนาบัติว่าเป็นอาบัติ โจทก์เช่นนั้นชื่อว่าย่อมเผาตน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 8 หน้า :548 }